วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร


วันที่มาถึงครึ่งทาง
(จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์   ฉบับที่ 27 พฤศจิกายน ธันวาคม 2543)
                     หลังจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมสนับสนุนเงินทุนในการปรับปรุงอาคารและจัดแสดงนิทรรศการภายใน  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านยี่สารก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  การเตรียมการเพื่อเนื้อหาในการจัดแสดงเป็นหน้าที่ของมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์       ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลนานกว่า 3 ปี
                      ทั้งนี้เนื้อหาในการจัดแสดงได้จากความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการจากภายนอก รวบรวม สังเคราะห์และสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยี่สารที่แสดงถึงสภาพแวดล้อม  ความหมายของชุมชน  ยี่สารในอดีต ปัจจุบัน และการกำหนดอนาคตของตนเองในทิศทางต่างๆ
                         สิ่งเหล่านี้คือการประกาศให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความมีตัวตนของคนยี่สารในสังคมภายนอก  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรวมตัวอย่างมีประสิทธิภาพของชุมชน นำไปสู่กระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็งได้อีกทางหนึ่ง
                         อย่างไรก็ตามนี่คือก้าวแรกในการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ต้องมีก้าวต่อไป นั่นคือเป็นภาระหน้าที่ของชุมชนยี่สารที่จะต้องรวมกลุ่มจัดการดูแลและสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้มีความต่อเนื่อง เช่น การจัดการให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน  การจัดการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น  การรวมกลุ่มสร้างงาน เพื่อผลิตสินค้าอันเป็นผลต่อเนื่องจาการท่องเที่ยว  เป็นต้น
              ทั้งนี้ต้องใช้ความพยายามและการร่วมมือร่วมใจกันอย่างมาก  บทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมาคือสิ่งที่มีค่าของผู้นำชุมชนที่ยี่สาร  ซึ่งกำลังรอการพิสูจน์ว่าการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยกำลังของชุมชนอย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้นี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่  ซึ่งชุมชนยี่สารคาดว่าจะสามารถเปิดให้ชมได้เมื่อมีความพร้อมในราวอีกสองเดือนข้างหน้า
  พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารเกิดขึ้นจากความต้องการร่วมกันของคนในชุมชน  จึงรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่ถูกทิ้งขว้าง และบางส่วนได้รับการบริจาคจากชาวบ้านมาเก็บรวบรวมไว้ที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญที่ได้รับการซ่อมแซมต่อเติมแล้ว  พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันเพิ่มเติมจากชั้นล่างโดยใช้ชั้นบนของอาคารปรับปรุงให้โถงด้านหน้าเป็นที่สำหรับประชุม  มีมุมหนังสือ  ของเล่น  กิจกรรมสำหรับเด็ก และในช่วงเข้าพรรษายังใช้เป็นที่พักแรมของคนเฒ่าคนแก่ตามเดิม  ส่วนห้องโถงด้านในจัดแสดงเนื้อหาต่างๆ
         ดังนั้นพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารจึงมีการจัดการออกแบบตามพื้นที่  ซึ่งจำกัดและยังคงหน้าที่การใช้งานหลายประเภทไว้ด้วยกัน  การจัดแสดงภายในจึงเรียบง่าย  ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ชาวบ้านทำขึ้นเองเป็นหลัก     เน้นการนำเสนอเนื้อหาโบราณวัตถุ  ภาพ  สิ่งของ  แบบจำลองประกอบบ้างบางส่วน

โครงสร้างและบางส่วนของเนื้อหาจากการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร  ตำบลยี่สาร  อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม














           1.สภาพภูมิศาสตร์  
2.ยี่สารในอดีต  
3.การขุดค้นทางโบราณคดี    
4.ความเชื่อและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชา   
5.วัดเขายี่สารและศิลปกรรมในพุทธศาสนา  
6.โพล่   
7.ภูมิปัญญาบ้านยี่สาร  


โอ่งใครคิดว่าไม่สำคัญ

(จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์   ฉบับที่ 15 พฤศจิกายน ธันวาคม 2541)
    ฝนที่ตกกระหน่ำราวกับฟ้ารั่ว  สำหรับคนกรุงเทพฯ  เป็นเรื่องเสียหายและทำลายสุขภาพจิตมากกว่าจะนั่งทอดหุ่ยปล่อยอารมณ์ให้รื่นเริงเย็นฉ่ำเหมือนสายฝน  คนเมืองเกลียดฝนเพราะว่าไม่เคยขาดน้ำ  เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรองน้ำไว้กินไว้ใช้ยามแห้งแล้งอีก เพราะมีน้ำประปา  น้ำดื่ม  ใส่ขวดใส่ถังยี่ห้อต่างๆ  ให้เลือกซื้อมากมาย
คนเมืองยังจำ โอ่งกันได้ไหม?
จำได้เมื่อยังเป็นเด็กเล็กๆ  อาศัยอยู่แถวชานเมืองกรุงเทพฯในบ้านที่พ่อกับแม่ใช้ต้นกระถินเป็นรั้ว  ปลูกผักสวนครัว  กินอยู่อย่างมัธยัสถ์  แม่มีโอ่งหลายใบ  โอ่งมังกรจากราชบุรี  โอ่งซีเมนต์สีแดงเรียงรายอยู่ตามพื้นรอบชายคาเวลาหน้าฝนคือมหกรรมการรองน้ำเอาไว้ใช้ดื่ม  ต้องพิถีพิถันล้างโอ่งให้สะอาดที่สุด  ใช้ผ้ากรองและปิดฝาให้มิดชิด  พวกเรากล้าดื่มเพราะแทบจะไม่รู้จักว่าควันพิษคืออะไร  น้ำฝนชื่นใจและหวานอร่อยเก็บไว้ดื่มได้ทั้งปี  ถ้าไม่จำเป็นแม่จะไม่ยอมดื่มน้ำประปาเลย  แม่เป็นคนแข็งแรงและชอบวิ่งวุ่นเวลาฝนตก  และถ้าตกมากๆ พวกเราก็จะได้รับอนุญาตให้เล่นน้ำฝนพร้อมกับช่วยแม่รองน้ำเก็บไว้ใช้ด้วย   ความเป็นจริงเหล่านั้นถูกทำลายไปหมดแล้ว  เหลือเพียงความทรงจำและยังรู้สึกดีๆ เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯยามฝนตกได้ไปช่วยงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บ้านยี่สารทำให้ความทรงจำในวัยเยาว์เด่นชัดขึ้นมาอีก  แต่ครั้งนี้จัดหมวดหมู่ความคิดเพิ่มเติมความเข้าใจเรื่องของสภาพแวดล้อมกับการปรับตัวของมนุษย์ที่พยายามต่อสู้เพื่ออยู่อาศัยในสถานที่ที่นับว่าอยู่ยากแห่งหนึ่งไว้ด้วย
บ้านยี่สารทำให้เรารู้จักชีวิตผู้คนที่ผูกพันอยู่กับฝนฟ้า  ภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่ที่ต้องรองน้ำไว้กินให้ได้ตลอดปียากลำบากกว่าอีสานที่เขาว่าแล้งกันมากนักเพราะยี่สารอยู่ในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน  มีคลองล้อมรอบอยู่ทุกทิศ  เป็นคลองที่ใช้เพื่อการคมนาคมและเป็นแหล่งอาหาร เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา  ที่อุดมสมบูรณ์แต่ต้องแลกกับการเป็นคลองน้ำกร่อย  ใช้ดื่มกินไม่ได้เลย  ชาวบ้านต้องปั้นโอ่งไว้ใช้กันบ้านละ 30-40 ใบ เรียงเป็นตับอยู่ตามพื้นบ้าน เป็นที่สะดุดตาสำหรับคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักอิทธิฤทธิ์ของน้ำกร่อย และเห็นเป็นเรื่องแปลก ในขณะที่ชาวบ้านยี่สารว่าเรื่องธรรมดา เป็นความธรรมดาในความยากลำบากอย่างยิ่ง
ที่ยี่สารชาวบ้านจะเรียก โอ่ง”  หรือ ตุ่ม”  ใส่น้ำขนาดใหญ่ว่า โพล่ไม่รู้ว่ามีรากเหง้าความเป็นมาอย่างไรจึงเรียกเช่นนี้  ต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไป  เมื่อเวลาฝนมาคนยี่สารจะเตรียมตัวกันคึกคัก  ฝนแรกและฝนสองจะใช้ล้างหลังคาชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อน  ฝนสามฝนสี่อาจจะใช้ล้างโพล่ให้สะอาดเตรียมไว้ใช้รองน้ำ  ที่นี้ก็ถึงคราวเก็บน้ำไว้ใช้  เก็บไว้ดื่มชุดหนึ่ง  เก็บไว้ใช้อาบด้วย  เวลาฝนตกมักเห็นการรองน้ำไปพร้อมๆ กับการอาบน้ำฝน  คนอาบน้ำฝนท่าทางสดชื่นจนไม่นึกว่าการอาบน้ำจะทำให้คนเรามีความสุขได้ขนาดนี้
เพราะน้ำใช้ที่บ้านยี่สารมีไม่พอต่อการใช้งานทั้งปี  ดังนั้นจึงมีการไป ล่มน้ำ”  ที่แม่น้ำเพชร  ใช้เรือขนาดใหญ่เข้าคลองเล็กๆ  ไปล่มน้ำ  นั่นคือการเอียงเรือให้น้ำไหลเข้า  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องสูบน้ำแต่ก็ยังเรียกว่าล่มน้ำอยู่  ชาวบ้านใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรมาอาบใช้ต้องซื้อหากันสนนราคาคิดเป็นโอ่ง  ที่ยี่สารยังไม่มีน้ำประปา  การทำประปาหมู่บ้านก็ขุดไม่เจอน้ำจืดเลย   และการต่อน้ำประปาจากเมืองแม่กลองมาใช้ก็ไกลเกินฝัน  ชาวบ้านจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนกันเอง
โอ่งที่บ้านยี่สารจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคน  ไม่มีบ้านใดที่ไม่มีโอ่งสภาพแวดล้อมแบบนี้ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้  เป็นการวางแผนระยะยาวปีต่อปี
   การขุดค้นที่เชิงเขาวัดเขายี่สารซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยโบราณ  จำนวนเกือบครึ่งของเศษภาชนะที่พบเป็นโอ่งใส่น้ำเนื้อแกร่งและหม้อใส่น้ำขนาดใหญ่ตั้งแต่ระยะการอยู่อาศัยชั้นแรกๆ  ที่เราพบเศษโอ่งจากเตาบางปูน  ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี  ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 และที่น่าประหลาดใจก็คือยังมีโอ่งชนิดเต็มใบจากเตาบางปูนเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านยี่สาร ได้รับบริจาคมาจากคุณยายท่านหนึ่งที่ใช้โอ่งใบนี่ใส่น้ำมาตลอด
ใต้ถุนหอไตรของวัดเขายี่สารยังมีโอ่งขนาดใหญ่มากๆ  เก็บไว้อยู่หลายใบ  เป็นโอ่งเคลือบสีน้ำตาลไหม้  เนื้อแกร่ง  ผู้คนส่วนหนึ่งเรียกกันว่า ตุ่มสุโขทัย แต่เราก็ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการผลิตโอ่งขนาดใหญ่แบบนี้ในแหล่งเตาในเมืองไทย หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้นก็พบว่ามีเศษภาชนะรูปแบบเช่นนี้ปะปนอยู่ในระยะตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20-21 ลงมา และน่านำเข้ามาจากที่อื่น เช่น จีน มากกว่าที่จะผลิตในพื้นที่ประเทศไทย                                                                                                                                                             โอ่งจึงเป็นภาชนะใส่น้ำที่สำคัญต่อชีวิตของผู้คนในป่าชายเลนมาตั้งแต่โบราณ  เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับธรรมชาติ  โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม  แต่เป็นการปรับตัวเพื่อให้กลมกลืน  ใช้น้ำฝนน้ำฟ้าให้ได้ประโยชน์ถึง ที่สุด
สิ่งที่แม่สอนเมื่อยังเป็นเด็กให้ใช้น้ำอย่างประหยัดแว่วเข้าหู  เมื่อมาขออยู่ขอนอนที่บ้านเขายี่สารเพราะน้ำจืดที่นี้มีค่าเหลือเกิน  ก่อนจะค่อยๆ  ใช้ขันตักน้ำราดรดร่างกาย  อย่างน้อยแม่คงดีใจที่ลูกสาวไม่ทำให้เสียหน้า



ที่มาวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=mm0QR1v1Akw

 ที่มารูปภาพ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=djang67&group=8

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กรมศิลปากร.  โคลงนิราศนรินทร์.  พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ  นางเพ็ญแข 
  พิทักษ์มนูศาสตร์,  2512.
------โคลงนิราศพระพิพิธสาลี.  กรุงเทพฯ  :  กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์,   2542.
------.  ชีวิตและงานของสุนทรภู่  กรุงเทพฯ  องค์การค้าของคุรุสภา, 2520.
โคลงนิราศพระยาตรังวรรณกรรมพระยาตรัง.  กรุงเทพฯ  สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร, 2515.
ธนัญญา  ทองซ้อนกลีบ,  แปล.  รวมเรื่องแปลและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 1. 
  กรุงเทพฯ  :  กรมศิลปากร,  2539.
นิราศเกาะจาน  รวมวรรณกรรมของสุนทรภู่,  พระนคร  ศิลปบรรณาคาร, 2513.
พ.ณ  ประมวญมารค.  กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์.  กรุงเทพฯ  แพร่พิทยา, 2515.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  จดหมายเหตุระยะทางเสนาบดี                                                                                     
กระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการหัวเมืองใน  ร.ศ.  117, 119.  พิมพ์ครั้งที่  2.                                                        ในงานทำบุญอายุครบ 60 ปี ของพระสุเทพสุเมธี, 2515.
ภาษาต่างประเทศ
Kaempfer.  Engelbert.  A  Description of the Kingdom of Siam 1690.                                          
  White Lotus Press, 1987.
Smyth Warrington, Herbert.  Five Years in Siam from 1891-1896 Vol.  1-2. White Lotus, 1994.